Monday, November 27, 2006

เรารู้จักกัน?

ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติปีนี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ข้าพเจ้าหอบหิ้วถุงพะรุงพะรัง ถึง 2 วัน เพื่อแบ่งสรร ปันส่วนแรง
ในการทยอยค่อยๆนำหนังสือกลับบ้าน -- โดยแอบแม่อย่างแนบเนียน

มีหนังสืออยู่หนึ่งเล่ม หลบไม่พ้นสายตาแม่ และแน่นอน เดือดร้อนถึงเล่มอื่นๆ
ที่ต้องปรากฏออกมา รายงานตัวตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาการ -- ของบ้าน

ข้าพเจ้าลงโทษหนังสือเจ้ากรรมเล่มนั้นด้วยการเว้นวรรคทางการอ่านมัน 1 เดือน
จากที่ตั้งกำหนดการเอาไว้ ว่าจะอ่านเป็นเล่มแรก

หลังจากหนังสือเล่มนั้นพ้นโทษ ข้าพเจ้าหยิบมันมาอ่าน และพบว่า น่าจะโทษตัวเอง
ใยจึงได้โยนบาปใส่แพะ และควรขอโทษมันทุกวันต่อจากนี้ อีก 1 เดือน

แอบเสียใจไม่ให้แม่เห็น -- คราวนี้รอดสายตาแม่ได้อย่างหวุดหวิด

"สองเงาในเกาหลี" คือ หนังสือเล่มที่กล่าวถึง
ข้าพเจ้ายินดีจะกล่าวขออภัยแพะไว้ ณ ที่นี้

แล้วคุณ รู้จักหนังสือเล่มนี้ไหม?

เพื่อเป็นการไม่ทำลายอรรถรสในการรับรู้ของท่าน ข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องย่อให้ทราบ
อย่างละมุนละม่อม และจะไม่ยอมทำร้ายจินตนาการของใคร ที่ยังไม่ได้อ่าน

"สองเงาในเกาหลี" เป็นเรื่องราวของ บุคคลสัญชาติไทยชาย 1 หญิง 1
ซึ่งมาพบกันและร่วมเดินทางด้วยกันเป็นเวลาหลายวันในเกาหลี
ที่สำคัญคือ ก่อนหน้านั้น เขาและเธอ ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

ย่อพอมั้ยล่ะ?

ในระหว่างการเดินทาง ทั้งผู้เขียนและข้าพเจ้าก็ต่างสงสัยในความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น

สิ่งที่เป็นและเห็นอยู่นั้น เรียกว่า รู้จักกันหรือยัง

คนที่เราเดินด้วยทุกวัน แต่ไม่เคยรู้ว่าบ้านเค้าอยู่ไหน
กินข้าวด้วยทุกวัน แต่ไม่เคยถามสักคำว่าทำงานอะไร
แลกเปลี่ยนทัศนคติกันบ่อยครั้ง แต่ยังไม่เคยรู้เลยว่าเค้าเป็นใคร

นั่นสิ แล้วอะไร ถึงจะบอกได้ว่าเรารู้จักกัน

ข้าพเจ้าชอบความรู้สึกสงสัยในความสัมพันธ์นี้มาก เพราะหากจะว่าไป
ข้าพเจ้ากับพี่ก้อง(ผู้เขียน) ก็เคยพบปะทักทายกัน

แล้วนั่น หมายถึงเรารู้จักกันแล้วหรือ?

ถ้าข้าพเจ้าเล่าเรื่องในหนังสือตอนจบ จะมีใครวิ่งมาตบ ถีบ อัด
หรือยัดเยียดความเป็นสามีให้หรือเปล่า -- ถ้ามีประเด็นหลัง จะรีบเล่า

เล่าดีกว่า -- สุดท้ายผู้เขียนก็เลิกสงสัยในระดับความสัมพันธ์ของเขาและพิณ
เพราะไม่รู้จะสงสัยไปทำไม เรื่องบางเรื่อง คำตอบจะมาไม่ตรงกับเวลาของคำถาม

ในขณะที่ข้าพเจ้ายังสงสัยอยู่

หลายปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามักจะนำเอาคำว่า "คนรู้จัก" มาใช้ในกรณี
นำมานิยาม ผู้คนที่ค่อนข้างอยู่ในระดับความสัมพันธ์ที่ผิวเผินบ้าง ห่างเหินบ้าง
หมางเมินบ้าง และไม่อยากจะเสวนาด้วยบ้าง จึงเรียกใช้บริการของคำนี้
เพื่อเป็นการให้เกียรติ(เพียงน้อย) กับบุคคลที่ถูกนิยามนั้น

ความสำคัญของคำว่า "คนรู้จัก" ของข้าพเจ้า(ก่อนหน้านี้) เล็กน้อยเหลือเกิน

แม้ข้าพเจ้าจะไม่ใช่พจนานุกรม แต่ก็อยากใช้คำให้มีความหมายที่ควรบ้าง
หนังสือเล่มนี้ทำให้ข้าพเจ้าคิดใหม่ทำใหม่(ในตอนนี้) กับคำว่า "คนรู้จัก"

บางที"คนรู้จัก"ของข้าพเจ้า ควรเป็นคนที่ชิดเชื้อมากกว่าเป็นคนที่ไม่อยากนับเชื้อ
เพราะอย่างน้อยๆก็เชื่อใจได้ว่า รู้เช่นเห็นชาติกันมาบ้าง ไม่ใช่แค่เดินผ่าน มองหน้ากัน
พอมีคนถามถึงความสัมพันธ์ ก็บอกเขาว่า คนนี้ฉันรู้จักนะ

แต่ว่า "คนรู้จัก" ที่สนิทสนมกันมาก -- เรารู้จักกันจริงหรือเปล่า

อ้าว.....ข้าพเจ้าชักงง นี่สงสัยมากไปหรือเปล่า

ว่าแล้ว ข้าพเจ้าก็ดำเนินรอยตามพี่ก้องมาติดๆ ด้วยการเลิกสงสัย
และเห็นด้วยว่าไปๆมาๆ มันชักไม่เกิดประโยชน์อะไร มากไปกว่า ปวดหัว

เพราะไม่ว่า ใครจะรู้จักใคร ผิวเผิน ตื้นเขิน ลึกซึ้ง มากน้อย หรือไม่นั้น
ข้าพเจ้าว่าการเรียนรู้ผู้อื่น (ในระดับต่างๆ) เป็นประสบการณ์ที่ดี
อาจมีผลทำให้เรามองเห็นตัวเองได้มากขึ้น -- เท่ากับได้เรียนรู้ตัวเองไปด้วย

จะรู้จักกันจริงๆ หรือรู้จักกันหลอกๆ -- ก็คงดีว่า ไม่รู้จักอะไรเลย


คำถามสุดท้าย


เรา "รู้จักกัน" จริงๆ แล้วหรือยัง




"สิสิร"




*พิเศษ บทกลอนกล่าวขอโทษ "สองเงาในเกาหลี"

"เมื่อแรกพบ สบตา ว่าเกาหลี
ฉันเปรมปรีดิ์ ยินดี รีบซื้อหา
แต่แม่ดัน มาเจอเข้า ตายละวา
โดนแม่ด่า เลยโทษเธอ เข้าเต็มเปา
คนที่ผิด คือฉัน ที่ซื่อบื้อ
เสือกยืนถือ ให้แม่เห็น เต็มสองเบ้า
กล่าวหาเธอ ว่าเล่มใหญ่ หนักไม่เบา
ทั้งที่เรา ยังไม่เริ่ม รู้จักกัน
พอได้อ่าน ก็รู้ ฉันคิดผิด
วิปริต ตัวเองช่างโง่เขลา
ต้องขอโทษ โปรดอภัย ให้แก่เรา
โอ้ว "สองเงาในเกาหลี" ดีกันเทอญ"